about 5 years ago -

กลยุทธ์พิชิตใจ HR ตอน สัมภาษณ์เมื่อต้องเปลี่ยนสายงาน

26

​​กลยุทธ์พิชิตใจ HR ตอน สัมภาษณ์เมื่อต้องเปลี่ยนสายงาน

เมื่อคุณต้องการจะเปลี่ยนสายงาน การสัมภาษณ์กับฝ่ายบุคคลถือเป็นช่วงสำคัญที่จะตัดสินว่าคุณจะได้เปลี่ยนสายงานไปทำในสายงานที่ต้องการได้หรือไม่ ซึ่งคุณอาจต้องเตรียมความพร้อมมากกว่าการสัมภาษณ์ครั้งไหนๆ แมนพาวเวอร์ขอยกตัวอย่างคำถามในการสัมภาษณ์ที่ฝ่ายบุคคลจะถามคุณพร้อมเทคนิคการตอบคำถามนั้นๆ ดังต่อไปนี้

  • แม้คุณอาจจะยังขาดทักษะบางอย่างที่เกี่ยวกับงานใหม่ แต่คุณก็ต้องพยายามหาทักษะ หรือความสามารถอื่น ๆ ที่คุณมีมาทดแทนให้ได้ และแสดงให้คนที่เรียกคุณไปสัมภาษณ์เห็นว่าความสามารถที่คุณมีนั้นมีประโยชน์ต่อการทำงานในสายอาชีพใหม่นี้ได้อย่างไร

ก่อนอื่นคุณต้องยอมรับเสียก่อนว่าตัวเองยังมีข้อบกพร่อง หรือไม่มีทักษะอะไรบางอย่าง จากนั้นจึงแสดงให้คนที่สัมภาษณ์คุณเห็นถึงความสามารถอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ และทดแทนคุณสมบัติที่คุณขาดไปได้

อธิบายถึงงานที่คุณเคยทำ และทักษะที่คุณได้รับมาจากการทำงานนั้น เช่น ถ้าคุณต้องทำงานเป็นทีมอยู่เป็นประจำ คุณก็จะมีทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ หรือถ้าคุณเป็นหัวหน้าทีม คุณก็จะมีทักษะในการบริหารจัดการ เป็นต้น หลาย ๆ ทักษะอย่างทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหา การเป็นผู้นำ หรือการคิดวิเคราะห์นั้นเป็นทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกสายงาน ดังนั้น เมื่อคุณต้องไปสัมภาษณ์งานที่คุณไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน คุณก็ควรที่จะศึกษารายละเอียดตำแหน่งงานให้ชัดเจน แล้วในวันสัมภาษณ์ ก็แสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าประสบการณ์และทักษะที่คุณมีอยู่นั้นจะเป็นประโยชน์ และช่วยในการทำงานในสายอาชีพใหม่นี้ได้อย่างไรรวมทั้งต้องตอบคำถามสัมภาษณ์ด้วยความมั่นใจด้วย เพราะหากแม้แต่ตัวคุณเองยังไม่มั่นใจในการทำงานในสายอาชีพใหม่ แล้วว่าที่หัวหน้าคนใหม่เขาจะมั่นใจได้อย่างไร

  • แค่พูดว่าคุณสามารถทำงานนี้ได้ ยังไม่พอ แต่คุณอาจจะต้องหาสิ่งที่เห็นชัดเจน จับต้องได้มาแสดงให้คนสัมภาษณ์เห็นด้วย

เมื่อคุณได้รับเรียกไปสัมภาษณ์งาน คุณควรจะมีอะไรบางอย่างไปแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นด้วยว่าคุณมีความสามารถมากพอ ที่จะเข้ามาทำงานสายนี้ แม้จะเป็นสายงานที่ต่างจากเดิม และไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนก็ตาม และต้องเป็นหลักฐานที่จับต้องได้จริง ๆ ด้วย เช่น หากคุณทำงานอยู่ในแผนกบัญชี แต่รักการเขียน และอยากจะย้ายสายงานไปสายที่ต้องใช้ทักษะด้านการเขียนมาก เช่น นักข่าว หรือนักเขียน คุณก็ควรที่นำตัวอย่างงานเขียนของคุณไปแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นด้วย อาจไม่ใช่งานเขียนในประเภทที่ตรงกับตำแหน่งที่คุณสมัครโดยตรงก็ได้ แต่ควรจะเป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถในด้านการเขียนจริง ๆ ใช้ภาษาถูกต้อง อ่านรู้เรื่อง เข้าใจได้

  • ไม่ใช่แค่ความสามารถเท่านั้น แต่คุณต้องทำให้คนที่เรียกคุณมาสัมภาษณ์เห็นด้วยว่าลักษณะนิสัยของคุณสามารถเข้ากับองค์กรของเขาได้อย่างดี

หากอยากจะได้พนักงานที่ดี สิ่งแรกที่ต้องดูก็คือคนที่มีลักษณะนิสัยที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของคุณได้ ทักษะส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ แต่การสอนเรื่องลักษณะนิสัยส่วนตัวต่างหากที่ยาก” - Richard Branson

การที่คนเก่ง มีความสามารถไม่ประสบความสำเร็จในการย้ายสายงาน นอกจากขาดทักษะที่เป็นทักษะเฉพาะในสายงานแล้ว อีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การที่พวกเขาไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทได้ ดังนั้นหากคุณมีโอกาสถูกเรียกไปสัมภาษณ์ คุณก็ต้องอย่าลืมที่จะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นด้วยว่าคุณมีลักษณะนิสัยที่เหมาะกับองค์กรของเขา

  • ทำให้คนสัมภาษณ์เห็นว่าคุณสามารถเพิ่มคอนเน็คชั่นให้กับบริษัทของเขาได้ เพราะว่าคนที่ย้ายสายงานมาก็จะรู้จักคนที่อยู่ในสายงานที่แตกต่างออกไป ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อองค์กรในอนาคต

หนึ่งข้อที่คนย้ายสายงานได้เปรียบคนที่มีประสบการณ์ในสายงานนั้น ๆ ก็คือเรื่องคอนเนคชั่น คนจากสายงานเดิม ก็จะรู้จักคนกลุ่มเดิม ๆ หรืออาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่สำหรับคนที่มาจากอีกสายงานหนึ่ง บริษัทก็ได้พนักงานที่รู้จักคนในอีกกลุ่มหนึ่ง แสดงให้เขาเห็นว่าการรับคุณเข้าทำงาน จะทำให้บริษัทมีพนักงานที่รู้จักคนในหลากหลายวงการ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม คุณก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ทุกงาน และทุกคนที่จะสามารถเปลี่ยนสายงานได้ เพราะในบางตำแหน่ง บางอาชีพ ก็จำเป็นที่จะต้องรับเฉพาะคนที่เรียนจบมาตรงสาย หรือมีประสบการณ์การทำงานในสายนั้น ๆ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องการทักษะและความสามารถที่เฉพาะทางจริง ๆ แต่หากเป็นสายงานที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มเติมได้ และคุณมีความตั้งใจมากพอ คุณก็สามารถประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

  สมัครงานบริษัทจัดหางานRecruitmentRecruitment Agency, กลยุทธ์พิชิตใจ HR ตอน สัมภาษณ์เมื่อต้องเปลี่ยนสายงาน