งานคือส่วนสำคัญในชีวิตทุกคน แต่งานก็อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความสุขในชีวิตเราหายไปได้ง่าย ๆ เช่นกัน การโหมงานหนัก ๆ อาจนำมาซึ่งความเครียด ปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และอาจลามไปถึงปัญหาครอบครัวด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสูญเสียสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวไป เมื่อนั้นเราจะรู้สึกไม่มีความสุขกับทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ที่เรียกกันว่าภาวะ “Burn out” หรือหมดไฟนั่นเอง ซึ่งหากพนักงานในองค์กรจำนวนมากรู้สึกหมดไฟไปพร้อม ๆ กัน ธุรกิจย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้น Work-life balance จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรไม่ควรมองข้ามและบริษัทกับพนักงานก็ควรร่วมมือกัน เพื่อพัฒนานโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
เราอยู่ตรงไหนในดัชนีชี้วัด Work-life balance ของโลก?
ก่อนจะมองไปถึงการพัฒนา อันดับแรกเราควรต้องเข้าใจก่อนว่าเราอยู่ตรงไหน สภาพปัญหาร้ายแรงแค่ไหน จากการจัดอันดับข้อมูลโดย Kisi กรุงเทพฯ ติด 5 อันดับเมืองที่มี Work-life balance แย่ที่สุดในโลกของปี 2022 โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 70.73 ขณะที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์เป็นอันดับหนึ่งของโลก มีคะแนนอยู่ที่ 100 เต็ม นอกจากนี้ยังมี 2 เมืองในสวิตเซอร์แลนด์ที่ติดอันดับท็อป 5 ด้วย
คะแนนเหล่านี้คำนวณจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น จำนวนประชากรที่ทำงานเกินชั่วโมงปกติ จำนวนวันหยุดขั้นต่ำ อัตราว่างงาน สภาพ เงินเฟ้อ นโยบาย remote work สวัสดิการสุขภาพ การเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพจิต ความช่วยเหลือเกี่ยวกับโควิด 19 รวมถึงสภาพทั่วไปของเมือง และอื่น ๆ
Work-life balance แย่ พนักงานแพ้แบบไร้ทางสู้
การที่กรุงเทพฯ รั้งอันดับท้าย ๆ ในตาราง Work-life balance ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกนัก เพราะหากเรามองไปรอบตัว คิดว่าคงมีคนไม่น้อย ที่มีครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก ทำงานจนตัวเป็นเกลียว ทำงานเกินเวลา ทำงานแบบแทบไม่มีวันหยุด ทำงานจนเวลาพักผ่อนไม่พอ สิ่งเหล่านี้นั่นเองที่เป็นตัวชี้วัดสำคัญของดัชนีคะแนน Work-life balance ชาวกรุงเทพฯ
ในระยะสั้น การขาด Work-life balance ที่ดี อาจส่งผลให้พนักงานเกิดความเครียด กิน-นอนไม่เป็นเวลา ไม่มีเวลาให้ครอบครัวหรือคนรอบข้าง แต่ในระยะยาว ผลพวงเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นปัญหาก้อนใหญ่ ทั้งอาการเจ็บป่วย ปัญหาสุขภาพจิต คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับคนรอบตัว และท้ายสุดจะเกิดเป็นภาวะ Burn-out หมดกะจิตกะใจจะทำงานต่อ หรือ อาจแย่ถึงขั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว
ครอบครัวและคนสนิทเป็นด่านหน้าที่อาจต้องรองรับทั้งอารมณ์หรือความเครียดจากพนักงานที่ overwork หรือทำงานหนักเกินไป ดังนั้นปัญหาครอบครัวหรือปัญหาสังคมก็อาจเป็นผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ในแง่ความสูญเสียเชิงธุรกิจ องค์กรหรือบริษัทผู้ว่าจ้างอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกด้วย โดยวารสาร Harvard Business Review เคยสำรวจข้อมูลของบริษัทในสหรัฐอเมริกาว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพของพนักงานที่เกิดภาวะ Burn out นั้นสูงถึง 125,000 - 190,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ไม่นับรวมถึงความสูญเสียทางธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจตามมาจากอัตราการลาออกที่สูงขึ้น บรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียด ตลอดจนการสูญเสียพนักงานที่มีประสิทธิภาพไป
แม้ว่าการรับมือกับความเครียด การจัดการเวลา หรือ การทุ่มเทความพยายามในงาน จะเป็นสิ่งที่พนักงานจะต้องคอยควบคุมให้ได้ แต่หากนโยบายหรือโครงสร้างองค์กรมีขีดจำกัดสูง ไม่ยืดหยุ่น ไม่ส่งเสริมให้พนักงานมี Work-life balance ที่ดี พนักงานก็จะไม่มีทางออกและไม่สามารถปรับชีวิตให้คืนความสมดุลได้ ดังนั้น การสนับสนุนจากองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
Work-life balance ดี (องค์กร) มีชัยไปกว่าครึ่ง
หากองค์กรหรือบริษัทผู้ว่าจ้างเล็งเห็นโทษในระยะยาวของการละเลยนโยบาย Work-life balance ว่าจะสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเพียงใด ก็ควรจะเริ่มสร้างรากฐานนโยบายใหม่ที่ช่วยพนักงานรักษาความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน แม้จะต้องลงเงินหรือลงเวลา ก็ยังเป็นสิ่งที่คุ้มค่า
สำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มต้น วันนี้แมนพาวเวอร์ได้รวบรวมไอเดียนโยบายที่จะช่วยส่งเสริม Work-life balance ที่ดีมาให้อ่านกัน เพื่อจะช่วยผลักดันและเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานและองค์กรร่วมมือกันสร้างสังคมการทำงานที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพ
1. มีความยืดหยุ่นกับนโยบายการลางาน/รูปแบบการทำงาน
ตั้งแต่ยุคโควิด 19 ระบาด แทบทุกองค์กรทั่วโลกต้องปรับมาให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน แต่ตอนนี้ที่สถานการณ์ในหลายภูมิภาคดีขึ้นแล้ว การคงความยืดหยุ่นในนโยบายการ Work from home เป็นเรื่องที่ดี และยังสามารถเพิ่มรูปแบบการทำงานแบบอื่นได้ เช่น remote work หรือ work from anywhere นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้พนักงานใช้วันหยุดอย่างมีประสิทธิภาพ การลางานตามสิทธิของพนักงานควรมีความยืดหยุ่นและทำได้ง่าย ยกตัวอย่างในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ที่เป็นอันดับ 3 ของเมืองที่มี Work-life balance ดีที่สุดในโลก ให้สิทธิพนักงานลาพักร้อนได้ถึงปีละ 4 สัปดาห์ บวกกับวันลาเพิ่มอีก 1 สัปดาห์ช่วงฤดูหนาว เพื่อให้พนักงานได้พักผ่อนกับครอบครัว แค่ลองคิดตามว่าได้วันหยุดยาว ๆ แบบนี้ เราจะมีความสุขแค่ไหนและไปชาร์จพลังเพื่อกลับมาลุยงานต่อได้สบาย ๆ
2. สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำงานให้ดี
สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศในออฟฟิศส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ การจัดที่นั่ง โซนพักผ่อน สิ่งอำนวยความสะดวก หรือแม้แต่อุปกรณ์สันทนาการต่าง ๆ สามารถช่วยให้พนักงานผ่อนคลาย ได้ขยับเคลื่อนไหว ไม่นั่งจ้องจอตลอดทั้งวัน ลดความเครียดและปัญหาสุขภาพไปในตัว
3. ให้ Manager ช่วยกันสอดส่องดูแล
ควรจัดการอบรมระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการ burn out และการทำงานเกินเวลาหรือชั่วโมงยาวนานเกินไป เพื่อที่จะได้ช่วยกันดูแล Work-life balance พนักงานได้อย่างทั่วถึง และเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในที่ทำงาน เช่น เปลี่ยนตำแหน่งงาน เปลี่ยนหัวหน้าทีม หรืออื่น ๆ ผู้จัดการหรือผู้บริหารสามารถเข้าไปช่วยในการปรับตัวและช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
4. ปรับตารางเวลาให้ยืดหยุ่นได้
ปัจจุบัน การเข้างาน 8-10 ชั่วโมงอาจไม่ได้จำเป็นต้องเคร่งครัดมาก ตราบใดที่พนักงานยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลงานตามเป้าหมาย การปรับตารางเวลาให้ยืดหยุ่น เช่น ชั่วโมงการทำงานสั้นลง พักกลางวันยาวขึ้น หรือ เข้าออฟฟิศเป็นบางวัน จะช่วยให้พนักงานมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น มีเวลาพักเพียงพอ และบริหารเวลาได้ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ประสิทธิภาพงานดีกว่าเดิมได้อีก โดยกรุงโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก เจ้าของสถิติ Work-life balance ที่ดีที่สุดอันดับ 5 ของโลก กำหนดชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเพียง 37 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น
5. สร้างสถานที่ทำงานที่ต้อนรับครอบครัว
หลายคนมีภาระครอบครัว ทำให้ต้องคอยจัดสรรเวลาให้เพียงพอกับทั้งงานและคนในบ้าน แต่หากสถานที่ทำงานพร้อมต้อนรับสมาชิกครอบครัวพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ลูก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง (โดยที่ไม่กระทบต่องานหรือพนักงานคนอื่น) จะช่วยลดความกังวลใจ และทำให้พนักงานโฟกัสกับงานได้ดีขึ้น
6. ให้รางวัลตอบแทนในรูปแบบแปลกใหม่
แน่นอนว่าโบนัสประจำปียังคงเป็น “รางวัลพิเศษ” ที่ทุกคนตั้งตารอคอย แต่ผลตอบแทนรูปแบบอื่น ๆ ที่แปลกใหม่ออกไป เช่น คอร์สฝึกอบรม Voucher ที่พัก หรือ วันหยุดพิเศษ จะช่วยทำให้พนักงานรู้สึกตื่นเต้น มีแรงบันดาลใจและมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น
7. ส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และสนับสนุนการเรียนรู้
การทำงานที่ “ไม่จำเจ” ไม่น่าเบื่อ และมีอะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา เป็นแรงกระตุ้นที่ดีให้พนักงานตื่นตัวอยู่เสมอ ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ จะช่วยให้พนักงานไม่รู้สึกว่าถูกปิดกั้น ต้องทำอะไรซ้ำไปซ้ำมา ขณะเดียวกัน องค์กรยังสามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของพนักงาน เช่น การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ช่วยในการทำงานและการต่อยอดในสายอาชีพของพนักงานได้ด้วย
8. สร้าง “fun committee” และสร้างสัมพันธ์กับชุมชน
การสร้าง Committee เพื่อสันทนาการภายในออฟฟิศ จัดกิจกรรมสนุก ๆ จัดทริป เปลี่ยนบรรยากาศตึงเครียดให้ผ่อนคลาย ช่วยให้พนักงานสานสัมพันธ์กันเอง และไม่เครียดกับงานมากเกินไป นอกจากนี้ การสร้างสัมพันธ์กับชุมชน เช่น การทำกิจกรรมอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ ก็สามารถเพิ่มความกลมเกลียว เพิ่ม sense of belonging ระหว่างกันได้ดี
9. ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ในทีม
ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการทำงานเลยทีเดียว บางคนเข้ากับที่ออฟฟิศไม่ได้ ถึงกับลาออกก็มี ดังนั้น การสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในที่ทำงานเป็นเรื่องจำเป็นและส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานด้วย
10. การดูแลสุขภาพจิตและสุขภาพกาย
บริษัทและองค์กรควรสนับสนุนให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้ตลอดเวลา เพราะปัจจุบัน ปัญหาสุขภาพจิตที่มีผลมาจากความเครียดในที่ทำงานเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป องค์กรและบริษัทควรพร้อมซัพพอร์ต เข้าใจ และช่วยเหลือ
ทั้งหมดนี้ เป็นภาพรวมคร่าว ๆ ของนโยบาย Work-life balance ที่หลายองค์กรทั่วโลกได้มีการทดลองทำกันแล้ว แต่ด้วยภาวะหรือเงื่อนไขที่แตกต่างออกไปในแต่ละประเทศ ก็อาจมีขีดจำกัดที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การมี Work-life balance ที่ดีควรเริ่มต้นจากการสำรวจ สังเกต และพูดคุยกันระหว่างทั้งพนักงานและผู้ว่าจ้าง เพื่อให้ทุกฝ่ายหาข้อตกลงร่วมกันได้ในการคืนความสมดุลให้กับชีวิตและการทำงาน เพราะแน่นอนว่า Work-life balance สำคัญต่อการดำรงชีวิต พอ ๆ กับที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
Credits:
Work-Life Balance:Best Cities Worldwide in 2022 | Kisi (getkisi.com)
Work-Life Balance กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ (bangkokbiznews.com)
12 Examples of Work-Life Balance Initiatives - Criteria For Success