เกือบ 2 ปี ที่ผ่านมา -

7 บทบาทของ Human Resource ที่องค์กรขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน

Image 2022 07 11 T10 52 59

​ในยุคปัจจุบันที่ตลาดและเศรษฐกิจแปรผันอย่างรวดเร็ว องค์กรและบริษัทต่าง ๆ ก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน เพื่อที่จะยังสามารถรักษาหรือพัฒนาความสำเร็จทางธุรกิจต่อไปได้ ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันทางธุรกิจอันดุเดือด... ใครช้าและอ่อนแอ ก็ย่อมต้องพ่ายแพ้ไป

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งมาไฮไลต์ความจำเป็นของความสามารถและความเร็วในการปรับตัวขององค์กรต่าง ๆ ให้เด่นชัดขึ้น ทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมทัพ การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร ความยืดหยุ่นในการทำงาน และอื่น ๆ นับได้ว่า หลาย ๆ บริษัทแทบจะต้องมีการปรับวัฒนธรรมและโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เลยทีเดียวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าทุกตำแหน่งงานในบริษัทจะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ แต่หน้าที่ของ Human Resource Management หรือ HR นั้น เรียกได้ว่าเป็นเหมือน“ฟันเฟืองชิ้นที่ขาดไม่ได้” ของทุกองค์กร เพราะ HR คือสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับบุคลากรทั้งหมดนั่นเอง

Untitled design_0.png

Human Resource สามารถถ่ายทอดสิ่งที่องค์กรประสงค์ไปสู่พนักงานเพื่อให้ทุกคนเข้าใจในเป้าหมายและเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ ขณะเดียวกัน HR ก็ยังสามารถสะท้อนสิ่งที่พนักงานต้องการให้องค์กรรับรู้ได้ด้วย แต่บ่อยครั้ง ที่องค์กรอาจมองข้ามหรือลดทอนบทบาทของ HR ลงไปอย่างน่าเสียดาย

ในฐานะบริษัทจัดหางานอันดับแนวหน้าของโลก แน่นอนว่าแมนพาวเวอร์กรุ๊ปทำงานร่วมกับ HR ของทุกบริษัทอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และเล็งเห็น7 บทบาทของ HR ที่องค์กรขาดไม่ได้ในยุคปัจจุบัน

1.บทบาทในการช่วยให้พนักงานปรับตัวเข้ากับโลกการทำงานแบบใหม่ได้เร็วขึ้น

โควิด-19 ส่งแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ต่อธุรกิจและรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เทรนด์การ Work from home/ Remote work ได้เข้ามาทดแทนการทำงานเข้าออฟฟิศแบบเก่า แม้ว่าจะเพิ่มความคล่องตัวให้พนักงาน แต่องค์กรก็ต้องเผชิญความเสี่ยงในการรักษาระดับประสิทธิภาพการทำงานให้คงเดิม ซึ่ง Human Resource มีบทบาทสำคัญในการกำกับควบคุมดูแลให้การสื่อสาร ประสิทธิภาพการทำงานและกฎเกณฑ์บริษัทต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้รูปแบบการทำงานที่คนไม่เจอหน้ากัน

นอกจากการจัดการกับการทำงานในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงแล้ว ตอนนี้ เกือบทุกองค์กรก็เริ่มวางแผนว่าจะรับมือกับโลกการทำงานหลังการระบาดอย่างไร ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีไอเดียต่างกันไป บางที่อาจต้องการให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศมาทำงานดังเดิม แต่บางที่ก็อาจเลือกการทำงานแบบ “ผสมผสาน” คือมีทั้งการเข้าออฟฟิศและ Remote work ปนกันไป อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะตัดสินใจใช้โมเดลไหน HR ยังจะเป็นศูนย์กลางในการทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด โดย HR สามารถช่วยให้พนักงานปรับตัว ปรับทัศนคติ และทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วงของการเปลี่ยนแปลง

2. บทบาทการประสานและสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงในองค์กร

HR เป็นสื่อกลางระหว่างพนักงานทุกระดับชั้น ดังนั้นจึงอยู่ในจุดที่เหมาะที่สุดในการกระตุ้นหรือสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในบริษัทเป็นปัจจัยหลักในการวางรากฐานวัฒนธรรมองค์กรด้วย โดยงานวิจัยระบุว่า องค์กรที่มีปฏิสัมพันธ์ภายในที่ดี มีแนวโน้มจะทำกำไรสูงกว่าบริษัททั่วไปถึง 21% ขณะเดียวกัน Human Resource ยังสามารถช่วยให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าตนเป็นส่วนสำคัญของทีม หรือ ของบริษัท ตลอดจนช่วยพัฒนาภาวะผู้นำของผู้จัดการหรือฝ่ายบริหาร ให้เคารพและเห็นความสำคัญของทุกคนในทีม ซึ่งเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย

3. บทบาทในการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่ากระบวนการคัดเลือกบุคลากรและจ้างงาน มักเป็นบทบาทที่คนนึกถึงอันดับแรก ๆ เมื่อพูดถึงหน้าที่ของ HR ซึ่งการคัดเลือกคนสำหรับตำแหน่งใดก็ตามล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น การเลือกคนผิดพลาดแม้แต่คนเดียว ก็อาจทำให้องค์กรสูญเสียมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์องค์กร ประสิทธิภาพการทำงาน หรือ ฐานลูกค้าที่ตั้งใจสร้างมา อาจพังทลายลงได้ชั่วพริบตา ดังนั้น บทบาทของ HR ในกระบวนการจ้างงานเป็นสิ่งที่บริษัทห้ามมองข้ามเป็นอันขาด และต้องตระหนักว่า การคัดเลือกคนของ Human Resource ไม่ได้จบลงที่การเซ็นสัญญาในวันแรก แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องคอยมอนิเตอร์กันไประยะยาวด้วย ว่าบุคลากรที่เข้ามามีความเหมาะสม หรือ สามารถทำงานได้ตามที่องค์กรคาดหวังหรือไม่

4.บทบาทการลดอัตราการเปลี่ยน/ย้ายงาน

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาหลักอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยที่หลายองค์กรอาจไม่รู้ตัว ก็คือ อัตราการลาออกหรือย้ายงานที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนทำงานทุกเจนเนอเรชั่น ไม่ว่าจะ Gen X, Y หรือ Z โดยผลจากการสำรวจกว่า 600 บริษัทที่มีจำนวนพนักงานระหว่าง 50-500 คน ชี้ว่า 63% ของบริษัททั้งหมด ประสบปัญหาในการรักษาพนักงานให้อยู่ต่อมากกว่าเจอปัญหาในการหาคนใหม่ที่เหมาะสมเสียอีก และ 77% ของต้นเหตุการเปลี่ยนงานนั้น สามารถป้องกันได้ โดย HR มีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อม เป็นกระบอกเสียงให้พนักงานในการรายงานปัญหาให้ผู้ว่าจ้างรับทราบ เพื่อดำเนินการปรับนโยบาย หรือ ปรับความเข้าใจระหว่างองค์กรและพนักงาน

5.บทบาทในการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ดี

วัฒนธรรมองค์กรเป็นตัวแปรสำคัญทั้งในการดึงดูดบุคลากรใหม่ และ รั้งบุคลากรเก่าที่มากความสามารถให้อยู่กับบริษัท อีกทั้งยังเป็นกลไกใหญ่ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และผลกำไรขององค์กรอีกด้วย ฉะนั้น การวางรากฐานและกำหนดทิศทางวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดย Human Resource สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการช่วยเพิ่มแรงขับเคลื่อนหรือกำลังใจในการทำงาน ช่วยสะท้อนความคิดเห็นพนักงานที่จะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ดีขึ้น เพราะวัฒนธรรมองค์กรควรให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นอันดับแรก เหมือนที่แมนพาวเวอร์กรุ๊ปยึดถือคำว่า #PeopleFirst มาโดยตลอด ซึ่งเป็นจุดเหนี่ยวนำให้เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง

6.บทบาทการคัดสรรเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับงาน

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีแต่ก้าวไปข้างหน้าและพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้นองค์กรและพนักงานต้องปรับตัวให้พร้อมรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ หากทุกคนในองค์กรรู้จักการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเหมาะสมและทั่วถึง ก็จะช่วยให้การปฏิบัติงานรวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีใหม่ในองค์กร อาจมีจุดสะดุดหรือไม่ราบรื่นได้ ถ้าพนักงานไม่เข้าใจหรือไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่ง HR มีบทบาทสำคัญทั้งในการอบรมหรือเทรนพนักงาน ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุง

7.บทบาทการพัฒนาคนและประสิทธิภาพการทำงาน

HR เป็นผู้ล่วงรู้ศักยภาพของพนักงานแต่ละคน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับบริษัทในการพัฒนาบุคลากรอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งพนักงานและบริษัท โดยการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เช่น การเลื่อนตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน หรือ ฝึกอบรมพนักงาน ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ของผู้บริหาร ที่ต้องอาศัยความเข้าใจในตัวบุคลากรของ HR มาเป็นองค์ประกอบหลักทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ในฐานะผู้ที่รับรู้ศักยภาพและขีดความสามารถของทุกคน HR ยังสามารถมองภาพรวมของทักษะที่องค์กรมีหรือขาดได้เป็นอย่างดี คำแนะนำของ HR จึงสำคัญมากสำหรับการตัดสินใจเพิ่มทักษะให้พนักงานในองค์กร ผ่านการจัดอบรมหรือเข้าคลาสเสริมทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน

Untitled design (2)_0.png

หากจะค้นหาตำแหน่ง Human Resource สำหรับองค์กรของคุณ ต้องพิจารณาอะไรบ้าง?

คำกล่าวที่ว่า “จ้าง HR ไม่ต่างกับหาหุ้นส่วนธุรกิจ” นั้นไม่เกินจากความเป็นจริงเลย HR ที่ดีต้องรอบรู้ ต้องเข้าใจภาพรวมขององค์กร รวมถึงผลประกอบการด้วย เพราะไม่ว่าจะเป็นกระบวนการจ้างงาน โยกย้ายตำแหน่ง หรือ การพิจารณาสวัสดิการพนักงาน ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับผลประกอบการของบริษัททั้งสิ้น  HR จึงเป็นเหมือนผู้ที่ต้องรู้ทุกเรื่องราวในบริษัท คอยช่วยในการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร ขณะเดียวกันก็ช่วยปกป้องสิทธิและเสนอแนะทางออกที่พนักงานพึงพอใจด้วย

ดังนั้น แมนพาวเวอร์กรุ๊ปมองว่าทักษะที่Human Resourceที่ดีต้องมี คือ

1. ทักษะในการประมวลข้อมูลและคิดวิเคราะห์- มองภาพรวมให้ขาด เข้าใจทิศทางขององค์กรและจิตใจของพนักงาน

2. ทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคม– ต้องพบปะและพูดคุยกับทุกคน ทุกระดับชั้นในบริษัทได้ และเชื่อมโยงทุกฝ่ายเข้าหากัน

3. ทักษะการคิดนอกกรอบและกล้าตัดสินใจ- รูปแบบธุรกิจและโครงสร้างองค์กรที่หลากหลายในปัจจุบัน ต้องอาศัยไอเดียใหม่ ๆ กล้าคิด กล้าทำ เพื่อช่วยพัฒนาบุคลากร

4. ทักษะในการเก็บความลับและรักษาจรรยาบรรณ- นอกจากระดับเงินเดือนแล้ว HR ยังเป็นผู้กุมข้อมูลส่วนตัวของบุคลากรในองค์กรด้วย ดังนั้นเรื่องจรรยาบรรณจึงสำคัญมาก เพราะส่งผลต่อสภาพจิตใจและการทำงานของทุกฝ่ายได้

ทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมาอาจเป็นปัจจัยขับเคลื่อนองค์กรที่ดี แต่นอกจากนี้ HR ยังสามารถเป็นกุญแจหลักในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางสังคมได้อีกด้วย โดยมีส่วนร่วมในการคิดนโยบายหรือสร้างสังคมการทำงานที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ทุพพลภาพ หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่สามารถทำให้เกิด Positive Change หรือความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกได้ในทุก ๆ ด้าน

สนใจสรรหาบุคลากรตำแหน่ง HR คลิก>>https://www.manpowerthailand.com/client-contact

Source : Pedersenandpartners , Testgorilla