มากกว่า 4 ปี ที่ผ่านมา -

คำถามเชิงทัศนคติพร้อมแนะวิธีการเตรียมพร้อม

45

​คำถามเชิงทัศนคติพร้อมแนะวิธีการเตรียมพร้อม

คำถามเชิงทัศนคติ (Attitude Test Questions) คือ คำถามที่ใช้วัด ระดับของความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวข้องกับภาวะทางจิตใจของผู้สมัครงานที่มีต่อตนเอง ต่อบุคคลอื่น และต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อันเป็นผลมาจากการเรียนรู้ ประสบการณ์ ที่จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมหรือแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งของการสัมภาษณ์งาน ซึ่งอยู่ในรูปแบบของการสนับสนุนหรือคัดค้านก็ได้ ปัจจุบันคำถามเชิงพฤติกรรมจะได้รับการนำมาใช้ในการสัมภาษณ์งาน เพื่อให้องค์การทราบความรู้สึกนึกคิด และทัศนคติ และเพื่อประเมินทักษะในการตอบสนองต่อสิ่งเร้า การปรับตัว และความเหมาะสมในการทำงานกับองค์การของผู้สมัครงาน ซึ่งคำถามเชิงทัศนคตินี้อาจจะไม่สามารถเตรียมการล่วงหน้า ท่องจำ หรือบันทึกไว้ได้ เพราะเป็นการวัดทัศนคติ และความเป็นตัวตนของผู้สมัครงานจริงๆ เป็นสถานการณ์สด ที่ผู้สมัครงานต้องใช้ไหวพริบ ตอบคำถามที่เกิดขึ้นทันที วิธีการเตรียมรับมือกับคำถามเชิงทัศนคตินั้นมีมากมาย ขอนำเสนอประเด็นหลักๆ ดังนี้

1. ศึกษา ฝึกฝน สั่งสม ประสบการณ์

ก่อนการสัมภาษณ์ผู้สมัคร ควรเข้าศึกษา หาความรู้ ฝึกฝนหัดทำข้อสอบเชิงทัศนคติ จากหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะทาง Social Media หรือสถาบันการอบรมต่างๆ ที่จะมีตัวอย่างคำถาม คำตอบของข้อสอบเชิงทัศนคติไว้ครบถ้วน เนื่องจากการสัมภาษณ์งานเชิงทัศนคตินั้น ผู้สมัครไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผู้สัมภาษณ์ จะถามคำเชิงทัศนคติด้านไหน จะวัดหรือประเมินทัศนคติเกี่ยวกับอะไร หรือจะยกสถานการณ์อะไรขึ้นมาถาม ดังนั้นความเชี่ยวชาญจะเกิดขึ้นได้ ย่อมมาจากการฝึกฝน การศึกษา หาความรู้ไว้ก่อนล่วงหน้า

2. กล้าตอบปัญหา หรือเปิดเผยข้อเท็จจริง

ผู้สมัครงานต้องกล้าตอบคำถามตามความเป็นจริงเกี่ยวกับประสบการณ์ การทำงาน ตลอดจนเป้าหมายและทัศนคติของตน พูดอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวั่นกลัว มีจิตวิทยาในการแสดงความเป็นมิตรและความเป็นกันเอง พยายามละเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งโดยทางตรง หรือทางอ้อม เกี่ยวกับสิ่งที่ผู้สมัครกำลังจะนำเสนอ พยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้สมัครงานในเวลาอันสั้นนั้น การแสดงออกก็ต้องเป็นไปโดยไม่มีการสงวนความลับเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นทัศนคติของผู้สมัครงานเอง ข้อแนะนำประการนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยปกติแล้ว มักจะเห็นได้ว่าเป็นธรรมชาติของคนทั่วไป ที่จะไม่รู้สึกเกร็ง หรือกลัว ที่จะนำเสนอคำตอบออกมาในรูปของทัศนะหรือความคิด บรรยายความถึงสิ่งต่าง ๆ ตามสภาพความเป็นจริงของตนเอง

3. ไม่สร้างอุปสรรคในการสื่อความ

ถ้าหากผู้สมัครงานที่กำลังได้รับการสัมภาษณ์มีความรู้สึกว่า ได้มีอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ขัดแย้งกันในแง่ทัศนคติและเป้าหมายของตนเอง ควรสงวนท่าทีไม่แสดงออกถึงทัศนคติ หรืออารมณ์ในแง่ลบออกมา ไม่ควรพูดในบางเรื่องที่อาจจะเป็นภัยแก่ตัวเอง และควรเลือกพูดเฉพาะสิ่งที่ เป็นข้อดีเกี่ยวกับตัวเอง บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นการโกหก หรือแต่เรื่องขึ้นมา ถ้าหากผู้สมัครงานแสดงออกมาไม่ถูกต้องก็จะเป็นอุปสรรคในการสื่อความ ทำให้ผู้สัมภาษณ์ลังเลใจที่จะไม่พูดอย่างตรงไปตรงมา เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สมัครงานจะต้องคำนึงถึงการวางตัวให้ถูกต้อง การใช้ภาษาก็ควรคำนึงถึงพื้นฐานทางการศึกษาของแต่ละฝ่าย ถ้าหากขัดกันแล้ว การสื่อความระหว่างสองฝ่ายก็จะเป็นไปโดยไม่ราบรื่นและกระท่อนกระแท่น ขาดตอน หรืออาจจะเป็นสภาพซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่ได้แสดงข้อมูลที่พึงจะต้องการแสดงต่อกัน

4. ไม่มีอคติต่อผู้สัมภาษณ์

ความเห็นหรือความมีอคติของผู้สมัครงานที่มีต่อการสัมภาษณ์ หรือผู้สัมภาษณ์มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจรับหรือไม่รับเข้าทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้สมัครงานจะต้องระมัดระวังป้องกันมิให้มีทัศนคติเคลือบแฝงในความคิด ในขณะที่ถูกทำการประเมิน หรือถูกถามเชิงทัศนคติ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องนี้ ผู้สมัครงานจะต้องพยายามทำความเข้าใจตัวเองให้มากที่สุด ตลอดจนการเข้าใจถึงความมีอคติของตนซึ่งอาจจะทำให้เป็นผลเสีย หรือทำให้ผิดพลาดในการถูกประเมินเกี่ยวกับตัวผู้สมัครงานในขณะทำการสัมภาษณ์ก็ได้

5. ใช้เรื่องราวในอดีต ในการคาดการณ์เรื่องอนาคต

เรื่องราวชีวิตของแต่ละคนที่ได้ทำมาในอดีต มักจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงอนาคตเสมอ ด้วยข้อเท็จจริงดังนี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ผู้สมัครงานต้องพยายามใช้จิตวิทยาในการทบทวนเรื่องราวของตนที่ผ่านมาในอดีตให้ละเอียด พื้นฐานของแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นทางด้านบุคลิกภาพ ทัศนคติ ตลอดจนวิธีปฏิบัติที่ได้พัฒนาหรือสร้างสมมานั้น สามารถนำมาคาดการณ์ ว่าพฤติกรรมในอนาคตที่ควรปรับใช้ในหน้าที่งานได้คืออะไร ผู้สัมภาษณ์มักจะสอบถามเชิงทัศนคติ ในเรื่องของชีวิต สภาพแวดล้อมในวัยเด็ก ตลอดจนประสบการณ์ในด้านการศึกษาและงานที่ได้เคยทำมาก่อน รวมถึงการใช้ชีวิตทางสังคม การพักผ่อน และสภาพของครอบครัวในปัจจุบัน อาจจะรวมไปถึงเรื่องสุขภาพพลานามัยและเรื่องราวที่ เกี่ยวกับการสถานการณ์ทางการเงิน แต่การที่คนบางคนล้มเหลวในงานหนึ่งก็มิได้หมายความว่า จะล้มเหลวในงานตำแหน่งใหม่ หรือผู้ที่เรียน เก่งในมหาวิทยาลัยก็มิใช่จะเป็นผู้ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีในทางการทำงาน ผู้สมัครงานควรพยายามหาคำตอบอธิบายในเชิงพลิกวิกฤตในอดีตมาสร้างความสำเร็จให้กับหน้าที่การงานในอนาคตได้ด้วยความมั่นใจ

ตัวอย่างคำถามเชิงทัศนคติ

- คุณเคยมีปัญหากับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานหรือไม่ แล้วคุณจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร?

- หากคุณมอบหมายให้ลูกน้องทำงาน แล้วงานนั้นมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทำให้คุณถูกหัวหน้าตำหนิอย่างมาก คุณจะเรียกลูกน้องมาตำหนิหรือไม่ เพราะเหตุใด หรือคุณจะดำเนินการอย่างไร?

- เมื่อมีการประชุมงาน มีคนในทีมมีความคิดเห็นไม่ตรงกับคุณ คุณจะทำอย่างไร?

- คุณสามารถรับมือกับคำวิจารณ์ได้มากแค่ไหน และจะแสดงออกอย่างไร?

- คุณเคยทำอะไรแล้วล้มเหลวหรือไม่ ถ้าเคย คุณจัดการกับผลตรงนั้นอย่างไร?

- หากคุณทำงานที่ได้รับมอบหมายไปแล้วเกินครึ่ง แล้วหัวหน้างานสั่งเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด ซึ่งคุณไม่เห็นด้วย คุณจะทำอย่างไร?

คำถามเชิงทัศนคติ (Attitude Test Questions) นั้นเป็นสิ่งที่ผู้สมัครงานคาดเดาได้ยาก ว่าจะถูกประเมินทัศนคติด้านไหน สิ่งที่ผู้สมัครงานควรเตรียมรับมือกับคำถามเชิงทัศนคติที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน ไม่ทันตั้งตัวนั้นก็คือ ศึกษา ฝึกฝน สั่งสม ประสบการณ์ และเมื่ออยู่ในสถานการณ์การถูกประเมิน หรือสัมภาษณ์นั้น ก็ต้องกล้าตอบปัญหา หรือเปิดเผยข้อเท็จจริง ไม่สร้างอุปสรรคในการสื่อความ ไม่มีอคติต่อผู้สัมภาษณ์ และสามารถใช้เรื่องราวในอดีต ในการคาดการณ์เรื่องอนาคตของการทำงานได้

 สมัครงานบริษัทจัดหางานRecruitmentRecruitment Agency, คำถามเชิงทัศนคติพร้อมแนะวิธีการเตรียมพร้อม