มากกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา -

การขึ้นทะเบียนรายงานตัวว่างงานออนไลน์ง่ายๆ และข้อควรรู้หลังขึ้นทะเบียน

ขึ้นทะเบียนว่างงาน

บทความที่เกี่ยวข้องกับการรายงานตัวว่างงาน

ไม่ว่าจะออกจากงาน ด้วยการถูกจ้างออก หรือการจำเป็นต้องลาออกทั้งๆ ที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ นับเป็นเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าไม่มีใครอยากเจอแน่นอน ซึ่งการขึ้นทะเบียนว่างงาน และเข้ารับการรายงานตัวว่างงาน ถือเป็นหนึ่งในการรักษาสิทธิ์ที่พึงมีของผู้ประกันตนมาตรา 33 แต่สิทธิ์ที่ว่านั้นหลายคนอาจไม่ทราบมาก่อน 

ดังนั้นในบทความนี้จะพาทุกคนมารักษาสิทธิ์ของประกันสังคมที่เราจ่ายกันไปในทุกเดือน ทั้งวิธีการลงทะเบียนว่างงาน การรายงานตัวว่างงานผ่านเว็บไซต์ และสิทธิต่างๆ ที่เราจะได้รับจากการลงทะเบียนว่างงานกัน 

ใครที่ขึ้นทะเบียนว่างงานได้บ้าง?

สำหรับใครที่สงสัยว่าใครบ้าง ที่มีสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนว่างงาน เบื้องต้นจะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือลูกจ้างที่มีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำ โดยจะต้องเป็น

  • ผู้ลาออกจากงาน 

  • ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง 

  • สิ้นสุดสัญญาจ้าง 

  • การถูกไล่ออก 

โดยจะต้องอายุไม่เกิน 55 ปี จึงจะมีสิทธิ์ที่จะขึ้นทะเบียนว่างงานได้ และต้องขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วันนับจากวันที่ออกจากงาน โดยเอกสารที่จะต้องเตรียมมีดังนี้

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน ในกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)

  2. บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา

  3. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป (รูปถ่ายต้องมีอายุไม่เกิน 6 เดือน)

  4. หนังสือรับรองการออกจากงาน สำเนาการแจ้งการลาออก หรือสปส. 6-09 

  5. (ถ้ามี) หนังสือหรือเอกสารแจ้งให้ออกจากนายจ้าง 

  6. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคาร โดยชื่อที่ระบุในหน้าสมุดบัญชีต้องเป็นชื่อของผู้ประกันตนที่ทำการลงทะเบียนว่างงาน


โดยวิธีการขึ้นทะเบียนว่างงานสามารถที่จะขึ้นทะเบียนได้ 2 วิธี คือ การไปติดต่อที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่หรือสำนักจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ตามภูมิลำเนาหรือพื้นที่ต่างๆ ที่สะดวก และการขึ้นทะเบียนออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีการที่สะดวกโดยวิธีการลงทะเบียนมี 5 สเต็ปง่ายๆ ดังนี้

1. กดเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ http://empui.doe.go.th เมื่อหน้าเว็บไซต์โหลดเสร็จจะมีหน้าต่างขึ้น ให้คลิกที่ปุ่ม “ดำเนินการ” จากนั้นในกรณีที่ไม่เคยลงทะเบียนให้คลิก “ลงทะเบียนเข้าใช้งาน” แล้วใส่เลขบัตรประชาชนและกำหนดรหัส แต่ในกรณีที่เคยลงทะเบียนแล้วให้ใส่เพียงเลขบัตรประชาชนและกดปุ่ม “เข้าสู่ระบบ”

2. อ่านข้อตกลงต่างๆ จากนั้นคลิกยอมรับและคลิก “ขั้นตอนต่อไป” จากนั้นกรอกข้อมูลตามบัตรประชาชน คลิก “ตรวจสอบ”

3. กรอกข้อมูลส่วนตัว แนบรูปถ่าย (ถ้ามี) คลิก “ลงทะเบียน”

4. คลิก “ดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน” 

5. จากนั้นยื่นเอกสารออนไลน์หรือส่งเอกสารไปที่สำนักงานประกันสังคมสาขาที่สะดวก รายเอกสารประกอบด้วย

  • หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน

  • แบบฟอร์ม สปส 2-01/7

  • สำเนาบัตรประจำประชาชน

  • สำเนาบัญชีธนาคาร

เมื่อลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางานเรียบร้อยแล้ว จะต้องรายงานตัวว่างงานตามกำหนดได้ผ่านเว็บไซต์ http://empui.doe.go.th หรือใครที่สะดวกก็สามารถนำใบรายงานตัวไปรายงานตนได้ที่สำนักงานจัดหางานที่สะดวก หากไม่สะดวกตามวันเวลาที่กำหนด ก็ยังสามารถมารายงานตัวว่างงานได้ล่วงหน้าหรือหลังวันนัดไม่เกิน 7 วันโดยนับรวมกับวันหยุดสุดสัปดาห์และนักขัตฤกษ์ได้ในเว็บไซต์ ซึ่งเงินจะเข้าบัญชีหลังจากการรายงานตัวไม่เกิน 7 - 15 วัน

คลิปวีดีโอสอนการรายงานตัวว่างงานด้วยตนเอง


สิทธิ์ที่จะได้รับจากการขึ้นทะเบียนว่างงานและรายงานตัวว่างงาน

ขึ้นทะเบียนว่างงาน

หลังจากขึ้นทะเบียนและรายงานตัวว่างงานแล้ว จะมีการได้รับสิทธิ์ชดเชยแต่ละกรณี ดังนี้

  • กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย (รายได้สูงสุด 15,000 บาท) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วันต่อปี โดยก่อนที่จะถูกเลิกจ้างจะต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 6 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนถูกเลิกจ้าง ซึ่งผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะต้องรายงานตัวว่างงานทุกครั้งตามที่กำหนดห้ามขาด 6 ครั้ง หากได้งานใหม่จะต้องเข้าไปให้ข้อมูลว่าได้งานใหม่แล้วตอนที่รายงานตัว

  • กรณีลาออกเองหรือหมดสัญญาจ้างงาน จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย (รายได้สูงสุด 15,000 บาท) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วันต่อปี โดยจะต้องส่งเงินประกันสังคมครบ 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนลาออกเอง และจะต้องรายงานตัวว่างงาน 3 ครั้ง

นอกจากนี้ หลังจากขึ้นทะเบียนแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิ์สวัสดิการจากประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือน 

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้เงินชดเชยและได้สิทธิประกันสังคมก็ตาม แต่จำนวนเงินที่ได้รับก็มีการจำกัดตามระยะเวลา ดังนั้นหลังจากการขึ้นทะเบียนว่างงานแล้ว ก็ควรหาแผนสำรองอย่างการค้นหางานใหม่ที่ใช่ ซึ่งการใช้บริการบริษัทจัดหางานนับเป็นตัวเลือกที่จะช่วยประหยัดเวลาในการหางานได้อย่างมาก และมีโอกาสได้งานที่เหมาะสมกับประสบการณ์ ความชอบ ความถนัด และรวมถึงการได้ทำงานในองค์กรที่ใช่

โดยบริษัทจัดหางานมืออาชีพในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมหนีไม่พ้น ManpowerGroup Thailand บริษัทจัดหาคนงานช่วยให้พบกับงานที่ใช่ ด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการคัดเลือกงาน ซึ่งมีงานในทุกสาขาวิชาชีพ ทุกสายงาน และทุกระดับ รวมถึงยังมีทั้งงานประจำ งานสัญญาจ้าง งานชั่วคราวให้เลือกได้อีกด้วย

สำหรับใครที่กำลังมองหางานใหม่เพียงเข้าสู่เว็บไซต์ที่นี่ สามารถที่จะค้นหางานที่ใช่ได้ทันทีผ่านตัวเลือกแถบเมนูด้านซ้ายที่จะมีเมนู ‘ผู้สมัครงาน’ ที่สามารถค้นหางานหรือติดต่อกับ Recruiter เพื่อส่งประวัติ อีกทั้งยังสามารถกรอกชื่อตำแหน่งหรือคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับงานและสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ เพื่อให้พบกับงานที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นสามารถกดปุ่มสีส้ม Apply Now เพื่อสมัครงาน จากนั้นเพียงรอเจ้าหน้าที่ติดต่อไปเพื่อสอบถามเบื้องต้นและช่วยคัดสรรงานที่เหมาะสมให้

ขึ้นทะเบียนว่างงาน

สุดท้ายนี้ใครที่ขึ้นทะเบียนว่างงานเสร็จแล้ว ต้องห้ามลืมไปรายงานตัวว่างงานในวันที่กำหนดเพื่อได้รับเงิน และลองให้ ManpowerGroup Thailand ช่วยหางานที่ใช่กัน

ข้อควรรู้หลังรายงานตัวว่างงานแล้วต้องเตรียมอะไรบ้าง?

​การขึ้นทะเบียนว่างงานและการรายงานตัวว่างงานสำหรับผู้ที่กำลังว่างงาน ถือเป็นสิทธิ์ที่ผู้ประกันตนทุกคนพึงมี โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 ไม่ว่าจะว่างงานในกรณีลาออกจากงานเอง การถูกเลิกจ้าง หรือหมดสัญญาจ้าง โดยที่ยังไม่มีงานรองรับนั้น จำเป็นที่จะต้องทำการขึ้นทะเบียนว่างงานตามขั้นตอน และเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว อย่าลืม! ว่าจะต้องมีการรายงานตัวด้วย ซึ่งในระหว่างการรอเข้ารับรายงานตัว ผู้ประกันตนหลาย ๆ คน อาจจะยังมีข้อสงสัยว่าหลังรายงานตัวว่างงานจะต้องเตรียมอะไรอีกบ้าง จึงจะผ่านการขึ้นทะเบียนอย่างสมบูรณ์ และได้รับเงินทดแทนตามสิทธิ์ของตน

หากใครที่กำลังเกิดความสงสัยและไม่แน่ใจในกระบวนการหลังการรายงานตัวว่างงาน บทความนี้ได้รวบรวม 5 เรื่องต้องรู้หลังรายงานตัวว่างงาน ที่จะเป็นการตอบข้อสงสัยที่พบบ่อย เพื่อให้ผู้ประกันตนทุกคนได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็น ป้องกันข้อผิดพลาดต่างๆ และเป็นการรักษาสิทธิ์ เพื่อให้เราได้รับการชดเชยตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้อง

การลงทะเบียนว่างงานและรายงานตัวว่างงาน

ก่อนจะไปดูว่าหลังการเข้ารายงานตัวว่างงานจะต้องเตรียมอะไร เรามาทบทวนกันคร่าว ๆ ถึงการลงทะเบียนว่างงานและเข้ารายงานตัวว่างงานกันก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ได้ทราบข้อมูลสำคัญในเบื้องต้น และเตรียมตัวในการลงทะเบียนได้อย่างถูกต้อง

สำหรับผู้มีสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนว่างงาน จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือลูกจ้างที่มีการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำ ต้องอยู่ในกรณีที่เป็น ผู้ลาออกจากงาน ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง สิ้นสุดสัญญาจ้างการถูกไล่ออก และต้องขึ้นทะเบียนหางานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับจากวันที่ออกจากงานโดยจะต้องเตรียมเอกสารสำคัญให้ครบ การขึ้นทะเบียนว่างงานสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเดินทางไปติดต่อขอขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ หรือสำนักงานจัดหางานประจำจังหวัดตามภูมิลำเนา หรือในพื้นที่ที่สะดวก อีกวิธีคือการขึ้นทะเบียนออนไลน์ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน http://empui.doe.go.th ซึ่งเป็นทางเลือกที่สะดวกมากขึ้น 

เมื่อทำการขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะต้องมีการรายงานตัวว่างงาน โดยสามารถทำได้ตามช่องทางเดียวกับการขึ้นทะเบียน สำหรับรายละเอียดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนว่างงานและรายงานตัวว่างงานออนไลน์สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

 

5 เรื่องน่ารู้หลังรายงานตัวว่างงาน

5 ข้อถาม-ตอบ ต้องรู้หลังรายงานตัวว่างงานแล้วต้องเตรียมอะไรบ้าง

เมื่อผ่านขั้นตอนการลงทะเบียนว่างงานแล้ว หลังจากนั้นผู้ประกันตนจะต้องมีการรายงานตัวว่างงานด้วย ซึ่งในระหว่างนี้จะมีกำหนดการให้เข้ารายงานตัว เพื่อตรวจสอบสภาวะการว่างงานและเข้ารับสิทธิ์การชดเชยจากเงินประกันสังคมที่สมทบไว้ตามมาตรา 33 ซึ่งหลังจากรายงานตัวว่างงาน หลายคนอาจจะยังมีข้อสงสัยต่าง ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่จะได้รับเงิน เช็คเงินว่างงานอย่างไร จะต้องรายงานตัวเมื่อไหร่ กี่ครั้ง ข้อสงสัยเหล่านี้เราได้รวบรวมมาหลักๆ 5 เรื่องด้วยกัน ที่จะต้องรู้ว่าหลังรายงานตัวว่างงานจะต้องเตรียมอะไร อย่างไร ดังนี้

1. รายงานตัวว่างงานไม่เกินกี่วัน?

ตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัตินั้น การรายงานตัวว่างงานจะถูกกำหนดวันนัดหลังจากผู้ประกันตนทำการขึ้นทะเบียนว่างงานแล้ว 1 เดือน เมื่อครบกำหนดวันนัดรายงานตัว ผู้ประกันตนจะต้องเข้ารายงานตัวว่างงานตามช่องทางที่สะดวก โดยจะต้องทำการรายงานตัวไม่เกิน 7 วัน หลังจากวันที่กำหนดนัด

2. รายงานตัวว่างงานได้เมื่อไหร่? หากไม่สะดวกวันที่กำหนดต้องทำอย่างไร??

ผู้ประกันตนสามารถเข้ารายงานตัวว่างงานได้เมื่อถึงกำหนดวันนัด หลังจากการขึ้นทะเบียนว่างงานแล้ว 1 เดือน โดยจะต้องรายงานตัวตามวันที่กำหนด กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สะดวกรายงานตัวในวันที่กำหนด สามารถรายงานตัวว่างงานได้ก่อนกำหนด 7 วัน หรือหลังกำหนดไม่เกิน 7 วันเช่นกัน (นับรวมวันหยุดราชการ)

ยกเว้นในกรณีที่เกิดการเจ็บป่วย กรณีญาติเสียชีวิต (เป็นบุคคลที่มีรายชื่อในทะเบียนบ้าน) หรือกรณีไปต่างประเทศ ในระหว่างการนัดรายงานตัว หากไม่สามารถรายงานตัวได้เพราะกรณีเหล่านี้ ผู้ประกันตนจะต้องนำหลักฐานต่างๆ ตามแต่กรณีไปแสดงและแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานต่อไปได้ แต่หากไม่ได้เกิดกรณีต่าง ๆ ดังกล่าวและไม่ได้ทำการรายงานตัวว่างงานตามกำหนด หรือก่อนหรือหลังกำหนด 7 วัน ก็จะส่งผลให้ไม่ได้รับเงินทดแทนว่างงานได้

 

3. รายงานตัวคนว่างงานได้กี่ครั้ง?

สำหรับคำถามนี้ จากข้อมูลหลักเกณฑ์ เราไม่พบว่ามีการกำหนดว่าสามารถรายงานตัวว่างงานได้กี่ครั้ง แต่ว่ามีการกำหนดเป็นจำนวนสิทธิ์รายวันที่จะสามารถเบิกเงินทดแทนประกันสังคมได้แทน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับในแต่ละกรณีการว่างงาน โดยจะส่งผลต่อสิทธิ์การรายงานตัวว่างงานที่แตกต่างกันไปดังนี้

  • กรณีว่างงานจาก การลาออก: จะสามารถรับสิทธิ์ได้สูงสุดที่ 90 วันต่อปีปฏิทิน ซึ่งหากเป็นกรณีที่มีการลาออกและได้งานใหม่ก่อน 90 วัน ผู้รายงานตนจะยังมีวันรับสิทธิ์ที่เหลือลดหลั่นลงไปสำหรับครั้งถัดไปหากเกิดกรณีการลาออกขึ้นอีกในปีนั้น ๆ

  • กรณีว่างงานจาก การถูกเลิกจ้าง: ในกรณีนี้กฎหมายได้มีการกำหนดให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถรับสิทธิ์รายงานตัวว่างงานได้สูงสุดรวมกันไม่เกิน 200 วัน ใน 1 ปีปฏิทิน (ต่อการรายงานตัว 1 ครั้ง) ไม่ว่าจะมีการรายงานตัวว่างงานไปแล้วด้วยกรณีใดในครั้งแรก หากต้องการรายงานตัวครั้งถัดมาในกรณีถูกเลิกจ้าง จะมีสิทธิ์รายงานตัวได้ไม่เกิน 200 วัน/ปี แต่หากเป็นการรายงานตัวหลังกรณีลาออกในครั้งแรกและครั้งที่สอง และต้องการรายงานตัวเมื่อถูกเลิกจ้างในครั้งที่สาม สิทธิ์จะเหลือเพียง 90 วันเท่านั้น

  • กรณีว่างงานจาก เหตุสุดวิสัย (จากการติดเชื้อโควิด-19): สำหรับสิทธิ์เพิ่มเติมสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกรณีหากต้องหยุดทำงาน หรือนายจ้างให้พักงานจากการติดเชื้อหรือกักตัวจากเชื้อโควิด-19 ก็จะมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 90 วัน

 

4. หลังรายงานตัวแล้ว กี่วันจะได้รับเงิน?

หากเตรียมเอกสารต่างๆ ครบถ้วน ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ หลังจากทำการรายงานตัวว่างงานเรียบร้อยแล้ว จะได้รับเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ได้ให้ข้อมูลไว้ไม่เกิน 7-15 วันทำการ ไม่นับรวมวันหยุดสุดสัปดาห์

 

5. เช็คเงินรายงานตัวว่างงานได้ที่ไหนบ้าง?

การเช็คเงินหลังการรายงานตัวว่างงาน สามารถทำได้ผ่านทางช่องทางดังนี้

  • เช็คผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect: ทำการเข้าสู่ระบบบนแอปพลิเคชัน SSO Connect ผ่านการกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและรหัสผ่าน เลือกหัวข้อ "การเบิกสิทธิประโยชน์" ระบบจะทำการแจ้งยอดเงินและวันที่อนุมัติสิทธิ์ เมื่อถึงวันที่กำหนดเงินก็จะถูกโอนเข้าบัญชีของผู้ได้รับสิทธิ์

  • เช็คผ่านเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคมwww.sso.go.th: ทำการเข้าสู่ระบบ โดยกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนและกรอกรหัสผ่าน ต่อมาเลือกหัวข้อ "ตรวจสอบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย" จากนั้นระบบจะแจ้งยอดเงินและวันที่อนุมัติสิทธิ์ให้ทราบ

เช็คผ่านสายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506: สามารถโทรสอบถามได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการตรวจเช็คเงินว่างงานหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ต้องได้รับทั้งในกรณีว่างงาน และในกรณีอื่น ที่มีสิทธิ์ตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนด

ขึ้นทะเบียนว่างงาน

นี่คือข้อควรรู้หลังรายงานตัวว่างงานทั้ง 5 ข้อที่เราได้รวบรวมข้อมูลและนำมาตอบข้อสงสัยกัน เพื่อให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้เตรียมความพร้อม และรักษาสิทธิ์ตามข้อกำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยไม่มีข้อผิดพลาด และหากผู้ว่างงานคนไหนต้องการหางานใหม่ที่ใช่ ทางManpowerGroup Thailand พร้อมให้คำปรึกษา และช่วยหางานที่ใช่สำหรับคุณได้ เพราะเราคือบริษัทจัดหาคนงานชั้นนำ เพื่อหาคนทำงาน ให้ได้งานที่ตอบโจทย์ที่สุด

Manpower เก่งหาคน ถนัดหางาน “We Love our Jobs”

บริษัทจัดหางานชั้นนำระดับโลก ตอบโจทย์การให้บริการอย่างครบวงจร เพราะเราเชื่อว่า "คน" หรือ "Manpower" คือ กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของทุกธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ในการสรรหาบุคลากรตั้งแต่ระดับทั่วไปจนถึงระดับบริหารให้เข้ากับองค์กรชั้นนำของเรากว่า 20 ปีในประเทศไทย เพื่อยกระดับตลาดแรงงาน พัฒนาศักยภาพพนักงานและธุรกิจสู่ความสำเร็จไปพร้อมกัน

ติดต่อเรา 

LINE OA: @manpowergroup_th

Call Center: 02-171-2345

E-mail: [email protected]

Website: www.manpowerthailand.com