อาชีพ Product Consultant (พนักงาน PC) หรือ พนักงานแนะนำสินค้า คืออะไร?
หากคุณไปเดินห้างหรืองานออกบูธ เชื่อได้ว่า คุณคงคุ้นตากับพนักงานแนะนำสินค้าตามแผนกต่าง ๆ เดินเข้ามาเพื่อเสนอให้ข้อมูลและแนะนำสินค้า พนักงานเหล่านี้ ไม่ใช่พนักงานของห้าง แต่เป็นของบริษัทเจ้าของสินค้านั้น ๆ พนักงาน PC ต้องผ่านการอบรม ทั้งทักษะการขาย การสื่อสาร การโน้มน้าว ที่สำคัญคือ ต้องรู้จักสินค้าที่ตัวเองขายอย่างทะลุปรุโปร่ง สามารถตอบคำถามข้อสงสัยต่าง ๆ ของลูกค้าได้ “พวกเขาให้ข้อมูลคุณได้มากกว่าฉลากบนสินค้า และสามารถแนะนำสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้”
แต่จริง ๆ แล้ว นอกจากจะให้คำแนะนำแก่ผู้บริโภค พนักงาน PC ยังสามารถสะท้อนฟีดแบ็ก เสียงตอบรับ หรือ ความนิยมของสินค้าต่าง ๆ ให้บริษัททราบเพื่อนำไปปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าต่อไปได้ด้วย
เพราะ พนักงาน PC เป็นตัวแทนของบริษัทที่ต้องดีลกับลูกค้าโดยตรง และเป็นเหมือนประตูเชื่อมระหว่างบริษัทและผู้บริโภค บริษัทต่าง ๆ จึงไม่ควรมองข้าม Product Consultant ของตัวเองเป็นอันขาด สำหรับหลายบริษัท พนักงาน PC ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เชียร์ขายสินค้า หรือ ปิดยอดบิล แต่มีหน้าที่เช็คสต็อกและจัดเรียงสินค้าด้วย
PC ที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร?
สำหรับผู้ที่หางานพนักงาน PC ส่วนใหญ่ไม่ได้จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน นักศึกษาจบใหม่ก็ทำได้ เพราะบริษัทจะต้องมีการฝึกอบรมเพื่อให้พนักงาน PC มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าต่าง ๆ อยู่แล้ว ทุกคนควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าที่ขายเหมือนกันหมด แต่อาจจะมีข้อแตกต่างเชิงทักษะที่ไม่ใช่ด้านวิชาชีพ หรือเป็น Soft skills ที่คนหางาน PC ควรมี ได้แก่
ใจรักในการบริการและการขาย - งาน PC คืองานขาย ซึ่งจะต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า คอยตอบคำถามและให้คำแนะนำ ดังนั้นคนที่เป็นพนักงาน PC ควรมีจิตใจรักในการบริการ พร้อมช่วยเหลือ อัธยาศัยและบุคลิกภาพดี ยิ้มแย้มแจ่มใส สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการขายและความประทับใจของลูกค้าทั้งนั้น
ทักษะการสื่อสารที่ดี – การที่จะแนะนำสินค้า เชียร์การขาย และตอบคำถามลูกค้า ต้องอาศัยทักษะการสื่อสาร ที่นอกจากจะสุภาพแล้ว ควรมีจิตวิทยาในการโน้มน้าว พูดจาฉะฉาน เข้าใจง่าย สามารถบอกความแตกต่างข้อดีข้อเด่นของสินค้าแต่ละชนิดได้ ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า
สามารถทำงานในชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น - พนักงาน PC โดยมากอาจทำงานประจำห้าง หรือ ตามงานออกบูธต่าง ๆ ซึ่งอาจมีชั่วโมงการทำงานที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศ 8-9 โมง แล้วเลิกงาน 5-6 โมงเหมือนพนักงานทั่วไป แต่จะเป็นชั่วโมงที่ห้างเปิด-ปิด หรือ ชั่วโมงตามงานออกบูธ อาจเข้าสายและเลิกดึก ซึ่งพนักงาน PC ควรพร้อมจะปรับตัวตามชั่วโมงทำงานที่แตกต่าง
เรียนรู้เร็วและตื่นตัวตลอดเวลา - ใน 1 วันพนักงาน PC อาจต้องคุยกับลูกค้าจำนวนนับไม่ถ้วน มีเวลาน้อยในการอธิบาย ตอบคำถาม หรือโน้มน้าวให้ลูกค้าซื้อสินค้า ดังนั้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นหน้างานเป็นเรื่องปกติที่พนักงาน PC ต้องเผชิญประจำ ดังนั้น ควรเรียนรู้รวดเร็ว รับมือกับปัญหาเฉพาะหน้าและความกดดันได้ดี ใจเย็นในการแก้ปัญหา และมีความตื่นตัวตลอดเวลา
บริษัทเจ้าของสินค้าควรให้ความสำคัญกับพนักงาน PC อย่างไร?
การฝึกอบรม – ขั้นตอนการฝึกอบรมถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพพนักงาน PC เลยก็ว่าได้ เนื่องจากพนักงาน PC ต้องเข้าใจรายละเอียดสินค้าต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งและมีทักษะในการเชียร์ขาย ทำยอดให้ทะลุเป้าให้ได้ในแต่ละเดือน โดยการฝึกอบรมมีหลายรูปแบบและหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบพี่เลี้ยง ระบบการอบรมแบบตัวต่อตัว หรือเป็นกลุ่มย่อย เป็นต้น และปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกสำหรับการอบรมออนไลน์ในกรณีที่พนักงานอยู่ต่างจังหวัด
สำหรับตัวเนื้อหาการอบรม นอกจากทักษะการขายแล้ว ควรมีการช่วยพัฒนาบุคลิกภาพและทักษะการสื่อสารด้วย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่จำเป็นมากขึ้นในยุคปัจจุบัน
ค่าตอบแทน – เมื่อเกี่ยวข้องกับยอดขายที่พนักงานต้องปิดให้ได้ในแต่ละเดือน บริษัทควรมีค่าคอมมิชชั่นที่ชัดเจนและดึงดูด เพื่อกระตุ้นการทำยอด ขณะเดียวกัน พนักงาน PC แม้ไม่ได้เข้าทำงานออฟฟิศที่บริษัท แต่ก็ควรได้รับสวัสดิการพื้นฐานเหมือนพนักงานทั่วไป เป็นแรงกระตุ้นอีกทางที่สามารถทำให้พนักงาน PC อยู่กับบริษัทเราได้นาน ๆ ไม่ต้องเสียเวลาเทรนคนใหม่ตลอดเวลา
สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท - พนักงาน PC ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ทำงานในห้างหรือตามบูธ ไกลจากบริษัท สื่อสารลำบาก ซึ่งอาจส่งผลให้มีความผูกพันกับบริษัทน้อยกว่าพนักงานทั่วไป รวมกับแรงกกดดันในระยะเวลาการจูงใจและปิดยอดขายกับลูกค้าที่น้อยกว่าพนักงานขาย และชั่วโมงการทำงานที่เลิกดึกด้วย ทำให้พนักงาน PC มีแนวโน้มลาออกหรือเปลี่ยนงานค่อนข้างบ่อย ดังนั้นจึงสำคัญมาก ๆ ที่บริษัทต้องสร้างความรู้สึกผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของทีมให้แก่พนักงาน PC ด้วยการทั้งจัดฝึกอบรม การสื่อสารกันบ่อย ๆ การสอบถามความคืบหน้าหรือฟีดแบ็กจากหน้างาน ทำให้พนักงาน PC รับทราบว่าพวกเขามีส่วนร่วมในการพัฒนาการขาย ตลอดจนสินค้าของบริษัทด้วย
พนักงาน PC ให้ข้อมูลได้มากกว่า ลึกซึ้งกว่า เข้าใจลูกค้ามากกว่า เสียงสะท้อนของพวกเขาจากลูกค้าหน้างาน ควรนำมาเป็นบทเรียนหรือเป็นฐานในการพัฒนาปรับปรุงสินค้าและการขายต่อไป การที่พวกเขาสามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับลูกค้า หารายได้เข้าบริษัท เรียกได้ว่าพนักงาน PC คือ "ผู้ให้" สำหรับทั้งลูกค้าและบริษัทนั่นเอง
เรา - แมนพาวเวอร์ เข้าใจคุณสมบัติของพนักงาน PC อย่างลึกซึ้ง สำหรับองค์กรใดที่ต้องการหาพนักงานขายประจำบู๊ท / ประจำห้างจำนวนมากสามารถกรอกแบบฟอร์มด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ